ข้อมูลทั่วไป

      องค์การบริหารส่วนตำบลเขากอบ ตั้งอยู่59/1 หมู่ที่ 1 ตำบลเขากอบ อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง

เนื้อที่ อาณาเขต
พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม ดินมีลักษณะร่วนปนทราย มีแม่น้ำตรังไหลผ่าน พื้นที่ทั้งหมดมี 62 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 38,750 ไร่
      ทิศเหนือ ติดกับ ต.หนองช้างแล่น อ.ห้วยยอด จ.ตรัง
      ทิศใต้ ติดกับ ต.ทุ่งต่อ อ.ห้วยยอด จ.ตรัง
      ทิศตะวันออก ติดกับ ต.เขาขาว อ.ห้วยยอด จ.ตรัง
      ทิศตะวันตก ติดกับ ต.บางดีและต.นาวง อ.ห้วยยอด จ.ตรัง

อาชีพ
      อาชีพหลัก ทำสวนยาง
      อาชีพเสริม ทำนา ค้าขาย และรับจ้าง

สาธารณูปโภค
จำนวนครัวเรือนที่มีไฟฟ้าใช้ในเขต อบต. 2,088 ครัวเรือน จำนวนบ้านที่มีโทรศัพท์ 1,800 หลังคาเรือน คิดเป็นร้อยละ 82.00 ของจำนวนหลังคาเรือน

การเดินทาง
การเดินทางจากหน้าที่ว่าการอำเภอห้วยยอด เดินทางโดยใช้ถนนเพชรเกษม เส้นทางไปจังหวัดกระบี่ ระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร จะเข้าสู่เขตตำบลเขากอบ

ผลิตภัณฑ์
แกะไม้สลักเทพธาโร


      ตำบลเขากอบ เป็นตำบลเก่าแก่มีอายุมากกว่า 100 ปี ราษฎรนับถือศาสนาพุทธ 100% ตั้งอยู่ในเขตการปกครองของอำเภอห้วยยอด ประกอบด้วยหมู่บ้าน 12 หมู่บ้าน

“ขุนกอบ คือคนก่อตั้งตำบลเขากอบ” ขุนกอบเดิมชื่อว่านายอินทร์ วรรณบวร มีพี่น้อง 7 คน เป็นลูกคนที่ 3 มีภรรยาชื่อนางกล่อม มีลูกด้วยกัน 6 คน ประกอบด้วยนางฉิ้ง นางพริ้ง กำนันเฟื่อง ผู้ใหญ่เส้ง ผู้ใหญ่ผัน และนางปลื้ม เมื่อปี พ.ศ. 2433 นายอินทร์ วรรณบวร ได้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้นำเขากอบ ได้สร้างถนนจากบ้านถนนแพรก หมู่ที่ 4 ไปถึงหัวสะพานบ้านท่ามะพร้าว หมู่ที่ 6 คน ด้วยทางราชการได้มอบหมายให้นายอินทร์สร้างถนนให้แล้วเสร็จในช่วงเวลาอันรวดเร็ว เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จประพาสทะเลสองห้อง แต่ถนนยังไม่เสร็จตามที่กำหนด ในตอนนั้นท่านคุณเทศา (พระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ) ซึ่งมาตรวจงานเห็นถนนยังไม่เสร็จ จึงเรียกนายอินทร์มาลงโทษโดยการเฆี่ยน นายอินทร์พอถูกเฆี่ยนแล้วก็รู้สึกเจ็บ จึงได้วิ่งหนี แต่พอนึกขึ้นได้ว่าตัวเราเป็นผู้ชายทำไมต้องวิ่งหนีอย่างนี้ด้วย เลยแย่งไม้เรียวจากท่านคุณเทศาแล้วตีกลับไป ทำให้ท่านเจ้าคุณเทศาโกรธมาก จึงสั่งว่าให้รออยู่ที่บ้านเป็นเวลา 5 วัน เมื่อครบกำหนด 5 วันแล้ว ท่านเจ้าคุณเทศาก็ได้นำขบวนช้างมาหลายเชือก เมื่อมาถึงบ้านนายอินทร์ก็เรียกนายอินทร์ออกไป นายอินทร์ก็ออกมาตามคำเรียก เมื่อออกไปท่านก็ได้รู้ว่า ท่านเจ้าจะให้ช้างแทงตน ก็ออกไปบริกรรมคาถาและเอาไม้ขีดบนดินข้างหน้า ท่านเจ้าคุณก็ได้สั่งให้ควาญช้างขับช้างพุงแทงนายอินทร์ซึ่งยืนอยู่ แต่พวกช้างเหล่านั้นก็ไม่สามารถที่จะข้ามเส้นที่นายอินทร์ขีดไว้ข้างหน้าได้ นายอินทร์ก็ได้ตวาดฝูงช้างออกไปดัง ๆ ว่าไป...ควาญช้างซึ่งไม่สามารถบังคับช้างได้ก็เลยวิ่งเข้าป่าไปทางซ้ายขวาจนหมด เมื่อท่านเจ้าคุณเห็นดังนั้นก็งงและตกใจ เดินเข้ามาหานายอินทร์แล้วถามนายอินทร์ว่า ”ท่านมีดีอะไร” นายอินทร์เลยตอบว่า “มีดีในตัว” ท่านเจ้าคุณเลยบอกว่า วันที่ผ่านมาก็ขอให้เลิกแล้วต่อกัน ต่อมานายอินทร์ วรรณบวร ได้รับความดีความชอบในการให้เป็นผู้นำและพัฒนาตำบลเขากอบเลยได้รับแต่งตั้งให้เป็น”ขุนกอบคีรีกิจ” ต้นสกุลวรรณบวร หลังจากนั้นขุนกอบก็ได้พัฒนาตำบลเขากอบให้เจริญและตั้งชื่อตำบลนี้ว่า “ตำบลเขากอบ” ในปี พ.ศ. 2472 ในเรื่องความเชื่อต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับขุนกอบนั้น เมื่อก่อนรูปปั้นขุนกอบได้หันหน้าออกสู่ถนน(ทิศใต้) แต่ต่อมาท่านได้เข้าฝันลูกหลานขอให้หันหน้าไปทางทิศตะวันออก เพื่อช่วยปกป้องคุ้มครองให้อยู่เย็นเป็นสุข
วิสัยทัศน์

  “เศรษฐกิจนำพา สังคมอัตลักษณ์ล้ำค่า
มุ่งมั่นพัฒนา ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”

พันธกิจ

พันธกิจที่ 1 ปรับปรุงและพัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง  ระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการให้ได้ มาตรฐาน  มีประสิทธิภาพและเพียงพอต่อความต้องการของประชาชน  เพื่อรองรับการขยายตัวของเมืองในอนาคต และเศรษฐกิจของท้องถิ่น

พันธกิจที่ 2 การส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของคน ครอบครัว  และชุมชนให้เข้มแข็ง สามารถ พึ่งตนเองได้ ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง

พันธกิจที่ 3 การสร้างระบบบริหารจัดการที่ดี  โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ การวาง แผนพัฒนา  การตรวจสอบ  เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการบริหารและการปกครอง

พันธกิจที่ 4 ปรับปรุงและพัฒนาระบบการศึกษาและสาธารณสุข  ตลอดจนอนุรักษ์และพัฒนา ศิลปวัฒนธรรมอันดีงามและภูมิปัญญาของท้องถิ่น

พันธกิจที่ 5 การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการบริหารและการบริการให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น  เพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการที่ดี

พันธกิจที่ 6 การเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการด้านการท่องเที่ยว และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมที่ดี  เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

พันธกิจที่ 7 การสร้างความเข้มแข็งด้านการเงินการคลัง  โดยการปรับปรุงกระบวนการบริหารการเงิน การคลังให้สอดรับกับอำนาจหน้าที่และภารกิจที่มีอยู่เดิม  และที่ได้รับโอนจากการกระจายอำนาจจากรัฐบาล

พันธกิจที่ 8 การเพิ่มศักยภาพของผังเมืองให้เป็นเครื่องมือชี่งนำและสนับสนุนการพัฒนาเมืองอย่างมี ประสิทธิภาพโดยไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งหรือเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาด้านอื่นๆ